Disco Elysium


ดิสโก อีไลซึม
เกมแรกจาก ZA/UM สตูดิโอน้องใหม่ชาวเอสโทเนีย (ซึ่งลงทุนย้ายมาตั้งสำนักงานในกรุงลอนดอน จะได้เข้าถึงตลาดเกมง่ายขึ้น) เข้าใกล้สปิริตและเสรีภาพของ tabletop RPG ที่สุดเท่าที่ผู้เขียนรู้จัก และนอกจากจะเข้าใกล้มากแล้วยังเสนอเนื้อเรื่องที่แปลงปรัชญาเกี่ยวกับ ‘สันดาน’ และ ‘อัตลักษณ์’ ของมนุษย์มาเป็นระบบเกมได้อย่างน่าคิดและแปลกใหม่ไม่เหมือนใคร

รูปแบบการเล่น Disco Elysium เปิดฉากด้วยบทสนทนาชวนงง ระหว่างเสียงในหัวเรากับ ‘สมองส่วนสัตว์เลื้อยคลานดึกดำบรรพ์’ และ ‘ระบบสมองส่วนลิมบิก’ ซึ่งดูเหมือนจะยื้อแย่งความสนใจของเรา ไม่นานเราก็จะพบว่า การถกเถียงกันในหัวระหว่างสมองส่วนต่างๆ รวมถึงอารมณ์และความคิดต่างๆ จะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตลอดทั้งเกม ไม่เพียงเท่านั้น มันยังสำคัญต่อการค้นพบความสามารถและ ‘อัตลักษณ์’ ที่หายไปของตัวเราด้วย เพราะตัวเราในเกมนี้ตื่นมาพร้อมกับอาการเมาค้างอย่างรุนแรง ลืมแม้กระทั่งว่าตัวเองเป็นใคร อยู่ที่ไหน ทำอะไรมา แล้วทำไมเสื้อกางเกงรองเท้าถึงกระจัดกระจายไปคนละทิศ ไม่นานเราจะค่อยๆ ปะติดปะต่อความทรงจำด้วยความช่วยเหลือจากคนอื่น ค่อยๆ เรียนรู้ว่าเราเป็นตำรวจ ถูกส่งมาทำคดีฆาตกรรมปริศนาในเมืองทรุดโทรมแนวดิสโทเปียที่ไม่ค่อยมีใครอยากมา ค่าที่มันนอกจากจะโทรมแล้วยังตกอยู่ใต้อิทธิพลของมาเฟียท้องถิ่นที่สถาปนากองกำลังรักษาความสงบของตัวเอง แต่สักพักเราก็จะพบว่ากองกำลังตำรวจที่เราสังกัดนั้นก็ไม่ใช่กองกำลังของรัฐบาลท้องถิ่น แต่เป็นหน่วยงานพิเศษที่ประเทศผู้รุกราน (และรบชนะ) จัดตั้งขึ้นรักษาความสงบในเมือง โลกในเกมนี้เป็นโลกคู่ขนานแนวสตีมพังก์ (steampunk) หลุดออกมาจากทศวรรษ 1970 แทบทุกอย่างในเกมใช้การทอยเต๋าเพื่อดูว่าทำสำเร็จไหม ไม่ต่างจากเกมสวมบทบาทนอกจอหรือ tabletop RPG ตลอดทั้งเกมแทบไม่มีฉากต่อสู้ใดๆ เลย แต่เราอาจตายได้ถ้าหากหมด ‘กำลังใจ’ (morale) หรือหมด ‘พลังชีวิต’ (health) ซึ่งทั้งสองอย่างนี้ก็ลดลงได้หลายทางด้วยกัน โดยเฉพาะถ้าทอยเต๋าไม่ผ่าน วิธีเดียวที่จะเพิ่มเปอร์เซ็นต์ความเป็นไปได้ที่จะทอยเต๋าผ่าน (ซึ่งเกมแสดงบนหน้าจอให้เห็นเป็นตัวเลข) ก็คือการเพิ่มค่าความสามารถของเรา หรือเปลี่ยนเสื้อผ้าที่จะมอบโบนัสให้กับค่าความสามารถต่างๆ ‘ความสามารถ’ ของเราใน Disco Elysium แบ่งออกเป็นสี่ด้านใหญ่ แต่ละด้านมีหกอย่าง ทั้งหมดมีมากถึงยี่สิบสี่ความสามารถ บางอย่างพอเดาได้ว่าหมายถึงอะไร เช่น ‘การใช้ตรรกะ’ (logic) หรือ ‘ความทนทายาด’ (endurance) แต่ก็มีอีกหลายอย่างที่แปลกใหม่ไม่คุ้นเคย เช่น ‘ความเจนโลก’ (savoir faire) และ ‘สารเคมีอิเล็กทริก’ (electro-chemistry ค่านี้ยิ่งสูง เรายิ่งมีโอกาสเสพสารเสพติดต่างๆ เช่น เหล้า บุหรี่ และยา สำเร็จ) ความสามารถหลายอย่างไม่ใช่ความสามารถในการรับมือกับโลกภายนอก แต่เป็นความสามารถที่เกี่ยวกับ ‘โลกภายใน’ นั่นคือ ภายในจิตใจเราเอง ตลอดทั้งเกมเราจะถกเถียงกับตัวเองในหัวบ่อยมาก (ใครไม่ชอบอ่านเยอะๆ ไม่น่าจะชอบเกมนี้ ทีมผู้ออกแบบประเมินว่ามีตัวหนังสือทั้งเกมมากถึง 1 ล้านคำ) ความสามารถต่างๆ ของตัวเราต่างส่ง ‘เสียง’ เรียกร้องให้เราสนใจมันอยู่เนืองๆ และการเลือกว่าจะเข้าข้างสมองส่วนไหน อารมณ์ไหน หรือความสามารถอะไร ก็เป็นส่วนสำคัญของการก่อร่างสร้าง ‘อัตลักษณ์’ ของเราขึ้นมาจากศูนย์ และบางครั้งก็ผลักดันเส้นเรื่องใหญ่ให้คืบไปข้างหน้า ระบบเกมที่เจ๋งมากอีกระบบและแปลกใหม่ไม่เหมือนใครคือ ‘หีบความคิด’ (thought cabinet) ซึ่งเอาไว้ครุ่นคิดถึงความคิดต่างๆ ที่วาบเข้ามาในหัวหรือได้เรียนรู้จากคนอื่น เราเลือกได้ว่าจะครุ่นคิดเรื่องอะไร เช่น หมกมุ่นกับความเหงาที่อยู่ไกลบ้านเหลือเกิน ความคิดแต่ละอันในหีบนี้ต้องใช้เวลาในเกมก่อนจะสุกงอม ผลผลิตของมันคือการเพิ่มค่าความสามารถในด้านใดด้านหนึ่ง แต่ส่วนใหญ่ก็มักจะมาพร้อมกับการลดค่าความสามารถด้านอื่น (เช่น ตรรกะเพิ่ม แต่ความเห็นอกเห็นใจคนอื่น (empathy) ลดลง) การได้ความคิดใหม่ๆ ในหีบความคิดนี้สนุกทุกครั้ง เช่น การครุ่นคิดอย่างหนักถึงประวัติชีวิตของนักแสดงที่โด่งดังส่งผลให้เราเสียค่าการรับรู้ (perception) เพราะเราหมกมุ่นกับเรื่องที่ไม่เกี่ยวอะไรเลยกับงานสืบสวนสอบสวนของตำรวจ ค่าความสามารถต่างๆ อารมณ์ความรู้สึก และสมองส่วนต่างๆ ใน Disco Elysium ค่อนข้างลื่นไหลตรงที่ไม่เคยบีบบังคับให้เราต้องเลือกว่าจะเป็นคนแบบไหน ซึ่งในเกมก็เลือกได้มากมายตั้งแต่พยายามเป็นผู้พิทักษ์กฎหมายสุดชีวิต เป็นตำรวจรับสินบน ตำรวจหลงตัวเอง (ว่าเป็นซุปเปอร์สตาร์) ตำรวจขี้โมโหที่ใช้ความรุนแรงแก้ปัญหา ฯลฯ นอกจากนี้ยังเลือกอุดมการณ์ทางการเมืองได้ว่าชอบแบบไหน จะบูชาทุนนิยมสุดขีด เป็นฟาสซิสต์จอมเหยียดผิว หรืออยากเป็นคอมมิวนิสต์สุดเข้ม หรือจะเปลี่ยนอุดมการณ์ไปมาก็ได้อีกเช่นกัน